คนทั่วไปมักจะคุ้นเคยกับการเห็นเมล็ดถั่วเหลืองสำเร็จที่พร้อมปรุงกันเป็นส่วนใหญ่ แต่จริงๆ แล้วส่วนอื่นๆ ของถั่วเหลืองกลับไม่ค่อยมีใครได้พบเห็นกันมากนักแม้ว่าถั่วเหลืองจะเป็นพืชที่มีอายุยาวนานกว่าห้าพันปีมาแล้วก็ตาม นอกจากนี้ถั่วเหลืองยังถือว่าเป็นพืชที่มีประโยชน์ต่อร่างกายอย่างมาก เพราะฉะนั้นลองมาทำความรู้จักกับลักษณะส่วนต่างๆ ของถั่วเหลืองว่าเป็นอย่างไรกันบ้าง
ลักษณะส่วนต่างๆ ของถั่วเหลือง
- ต้นถั่วเหลือง – ลำต้นตรง เป็นพุ่ม แตกกิ่งออกได้มาก ความสูงราว 30-150 เซนติเมตร ขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของดิน ความชื้น และช่วงฤดูที่ทำการเพาะปลูก ขนปกคลุมทั่วไปตามลำต้น ยกเว้นตรงใบเลี้ยงและกลีบดอก แบ่งได้เป็น ต้นถั่วเหลืองชนิดทอดยอดและไม่ทอดยอด พอเมล็ดแก่ฝักจะแห้งแล้วตายไปทำให้เป็นที่มาอีกชื่ออย่าง ถั่วแม่ตาย
- รากถั่วเหลือง – เป็นระบบรากแก้ว ถ้าดินร่วนรากสามารถหยั่งลึกได้ 0-5-1 เมตร แต่ปกติระบบรากจะอยู่ประมาณ 30-45 ซม. ประกอบไปด้วยรากแก้วที่โตมาจากรากแรกของต้น มีรากฝอยหรือรากแขนงที่มาจากรากแก้ว ส่วนปมรากเกิดจากแบคทีเรียไรโซเบียมสะสมอยู่
- ใบถั่วเหลือง – ตอนต้นอ่อนจะมีใบเลี้ยง ใบจริงคู่แรกเป็นใบเดี่ยว ซึ่งใบจริงที่เกิดขึ้นต่อมาจะเป็นใบประกอบแบบ 3 ใบย่อย คือ ใบย่อยด้านปลาย 1 ใบ และด้านข้างอีก 2 ใบ ลักษณะทรงใบมีหลายแบบ เช่น รูปไข่จนเรียวยาว โคนก้านใบมีหูใบ 2 อัน โคนก้านใบของใบย่อยมีหูใบย่อย 1 อัน มีขนสีน้ำตาลหรือเทาขึ้นที่ใบปกคลุมไปทั่ว
- ดอกถั่วเหลือง – ออกเป็นช่อ ช่อดอกเป็นแบบกระจะ สีขาวหรือม่วงซึ่งสีขาวจะเป็นลักษณะด้อยพอบานเต็มที่ขนาดอยู่ราว 3-8 มม. ดอกนี้จะเกิดตามมุมของก้านใบหรือตามยอดลำต้น ใบหนึ่งช่อดอกจะมีดอกออกตั้งแต่ 3-15 ดอก ข่อดอกที่เกิดตามลำต้นมักมีจำนวนดอกในช่อมากกว่าช่อดอกที่เกิดบริเวณมุมใบ ช่อดอกประกอบไปด้วยก้านช่อดอกและก้านดอกย่อย กลีบเลี้ยงด้านนอกสีเขียว สั้น มีสองกลีบ มีขนปกคลุม กลีบรองดอกถัดจากกลีบเลี้ยงฐานติดกันมีห้าแฉก กลีบดอกมี 5 กลีบ
- ฝักถั่วเหลือง – ออกเป็นกลุ่ม กลุ่มละ 2-10 ฝัก ขนสีเทาหรือน้ำตาลปกคลุมทั่วฝัก ยาว 2-7 ซม. แต่ละฝักจะมี 1-5 เมล็ด แต่ส่วนมากจะมี 2-3 เมล็ด ฝักอ่อนสีเขียว พอสุกจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล พอแตกออกเมล็ดก็จะร่วงออก
- เมล็ดถั่วเหลือง – มีสีเหลือง เขียว น้ำตาล ดำก็ได้ ขนาดและรูปร่างต่างกัน กลมรีถึงยาว เมล็ดเล็กจำนวน 100 เมล็ดหนักราว 2 กรัม เมล็ดใหญ่อาจหนักกว่า 40 กรัม